วันศุกร์ที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2560

Characteristics of an ATC

คุณสมบัติที่ดีของเจ้าหน้าที่ควบคุมจราจรทางอากาศ


     ATC เป็นอาชีพที่ต้องทำงานภายใต้ความเครียดความกดดันสูง ต้องตัดสินใจภายใต้เวลาอันจำกัด ต้องรักษาระดับมาตรฐานความปลอดภัย ในอุตสหกรรมการบินที่เติบโตแบบก้าวกระโดดเช่นทุกวันนี้ ต้องอยู่ภายใต้กฏระเบียบอันเข้มงวด เพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุด ต้องคิดให้ไว ตัดสินใจให้ถูกต้อง แล้วอะไรคือคุณสมบัติที่จะหล่อหลอมให้เป็น ATC ที่ดีได้ มาดูกัน



1. มีความถนัดด้านการรับรู้มิติสัมพันธ์ (Spatial awareness)  :

อธิบายง่ายๆคือการที่เราสามารถจินตนาการภาพ 3 มิติขึ้นในหัว เห็นภาพว่าเครื่องบินแต่ละลำอยู่ตำแหน่งไหน คาดการณ์ได้ว่าหากปล่อยไว้ เครื่องจะเข้ามาชนกันหรือไม่ ต้องแก้ไขอย่างไร



2. สามารถทำอะไรหลายอย่างพร้อมกันได้ (Simultaneous capacity)  :

เป็นทักษะที่เราอาจเคยได้ยินกันบ่อยๆในชื่อ Multitasking นั่นเอง บ่อยครั้งที่ ATC จะต้อง ตาดู ปากพูด หูฟัง มือเขียน พร้อมๆกัน เรียกว่าต้องทำแบบนี้จนเป็นงาน routine ก็ว่าได้



3. มีความจำดี (Excellent memory)  :

ในการควบคุมจราจรทางอากาศ จำเป็นต้องใช้ข้อมูลหลายอย่างในการประกอบการตัดสินใจ แม้จะมีอุปกรณ์ช่วยจดจำบันทึกข้อมูลที่จำเป็น แต่คงจะดีกว่าหากเรามี memory ที่มีความจุเยอะหน่อย ก็จะเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้มาก



4. เป็นคนเคารพกฏ (Respect for the rules)  :

ทุกคนคงทราบกันดีว่าการบินเป็นการเดินทางที่ปลอดภัยที่สุด ผลสัมฤทธิ์นี้ไม่ได้มาเพราะโชคช่วย หากแต่เกิดขึ้นได้เพราะกฏระเบียบและมาตรการด้านความปลอดภัย ที่หล่อหลอมจากประสบการณ์ที่เคยเกิดในอดีต กฏระเบียบเยอะแยะมากมายเหล่านั้นล้วนมีเหตุผลที่มาที่ไป ทั้งนี้ก็เพื่อความปลอดภัยสูงสุด คุณสมบัติในการเคารพกฏจึงอาจเป็นหนึ่งในคุณสมบัติที่จำเป็นที่สุดของ ATC ก็ว่าได้



5. สามารถตัดสินใจภายใต้แรงกดดันหรือความเครียดได้                               (Making decisions under pressure)  :

ATC ต้องคิดให้เร็วกว่าความเร็วเครื่องบิน เพราะเครื่องบินไม่สามารถหยุดกลางอากาศได้ เราไม่สามารถกดปุ่ม pause เหมือนในวิดีโอเกมส์ได้ ทุกนาทีที่ผ่านไปคือเครื่องบินกำลังบินเข้าหากันมาขึ้น แน่นอนว่าภาวะความกดดัน ความเครียดย่อมเกิดขึ้นได้ เพราะต้องตัดสินในภายใต้เวลาอันจำกัด สวนทางกับข้อมูลประกอบและกฏระเบียบที่ต้องนำมาปรับใช้ซึ่งมีอยู่มากมาย



6. หมั่นทบทวนตำรา (Exercising effective personal authority)  :

ATC จะต้องปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีหรือกฏระเบียบต่างๆที่เปลี่ยนไป การหมั่นทบทวนตำราอยู่ตลอดจึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง  ในการควบคุมจราจรทางอากาศนั้น คำว่า "ควบคุม" จะศักดิ์สิทธิ์ได้ก็เมื่อ ผู้ควบคุม(ATC)ได้ศึกษาและเข้าใจกฏระเบียบอย่างถ่องแท้



7. เป็นคนใส่ใจในรายละเอียด (Paying attention to details)  :

บ่อยครั้งที่ ATC จะต้องตัดสินใจอย่างรวดเร็วและถูกต้อง การจะทำเช่นนั้นได้ จะต้องอาศัยข้อมูลที่เพียงพอ การมีข้อมูลไม่เพียงพอ อาจนำไปสู้การตัดสินใจที่ผิดพลาดได้ การรู้จักใส่ใจในรายละเอียด จะนำไปสู่การได้รับข้อมูลที่ครบถ้วนสมบูรณ์ได้



8. มีทักษะในการประสานการมองเห็นและการเคลื่อนไหวร่างกาย                  (Vitual-motor coordination)  :

ดูราวกับเป็นการเฟ้นหาแช้มป์เล่นวิดีโอเกมส์ แต่จริงๆแล้ว การควบคุมจราจรทางอากาศก็คล้ายๆการเล่นเกมส์อยู่มาก เพียงแต่ ATC นั้นเดิมพันด้วยชีวิตและทรัพย์สินมหาศาลประเมินค่าไม่ได้



9. มีทักษะในการทำงานเป็นทีม (Teamwork skills)  :

ข้อนี้คงไม่ต้องอธิบายอะไรมาก เราไม่ได้ทำงานคนเดียว การบินจะปลอดภัยได้ เราต้องเล่นกันเป็นทีม อุดช่องโหว่ความผิดพลาดของกันและกัน



10. มีความอดทนต่อความผิดหวัง (Tolerance to frustration)  :

ไม่ได้หมายความว่างาน ATC เป็นงานที่น่าผิดหวัง หรือต้องเจอกับความผิดหวังอยู่บ่อยๆนะครับ แต่หมายความว่า หากวันหนึ่งเราต้องพบเจอกับความผิดหวัง สูญเสียกำลังใจ จากปัญหาบางอย่าง ไม่ว่าจะเรื่องส่วนตัวหรือเรื่องงาน เราจะต้องอดทนให้ได้ เมื่อรับไมค์ทำงานแล้ว ความผิดหวังที่พบเจอมาจะต้องถูกทิ้งไว้เบื้องหลังทันที



11. อารมณ์คงที่ (Emotional stability)  :

ก็คงจะคล้ายๆข้อที่แล้ว เพราะอารมณ์นั้นมีผลต่อการตัดสินใจอย่างมาก โดยเฉพาะอารมณ์ไม่ดี จะมีผลให้การตัดสินใจไม่ดีไปด้วย จึงควรทิ้งมันไว้ที่ประตูก่อนจะมารับไมค์ทำงาน การเป็นคนอารมณ์คงที่ จึงเป็นข้อดีอย่างมาก



12. พร้อมรับคำวิพากษ์วิจารณ์ (Willingness to accept criticism)  :

การควบคุมจราจรทางอากาศนั้นมีหลากหลายวิธีการที่จะทำให้ไปถึงจุดหมายเดียวกัน ตราบใดที่ยังตั้งอยู่บนกฏเกณฑ์ คงไม่มีอันไหนผิด ยอมรับฟังมุมมองของคนอื่นบ้าง จะช่วยเราได้มาก ลองนึกภาพเวลาเล่นเกมส์หรือเล่นกีฬา คนนั่งดูมักจะมองเห็นอะไรกว้างกว่าคนที่กำลังเล่น จริงอยู่ที่ ATC ควรมีความมั่นใจในตนเอง แต่ควรมั่นใจในระดับที่พอดี ไม่ใช่มั่นใจมากจนปิดกั้นความคิด ไม่รับฟังความคิดเห็น หรือคำวิจารณ์จากคนอื่นเลย



13. มีภูมิต้านทานต่อภาวะน่าเบื่อหน่าย (Resistance to boredom)  :

ATC เป็นหนึ่งในอาชีพที่ต้องนั่งกับที่เป็นเวลานานๆ เจอทั้งความเครียดและแรงกดดัน คนที่มีภูมิต้านทานก็จะทำงานได้มีความสุขมากกว่า อย่าสับสนกับการขี้เบื่อหรือไม่ขี้เบื่อนะครับ ผมเองและ ATC อีกหลายท่าน หลงรักการผจญภัย ชอบท่องเที่ยว ชอบทำกิจกรรมกลางแจ้ง แต่ที่เรายังทำงานนี้อย่างมีความสุขเพราะเรามี "ภูมิต้านทาน" ค่อนข้างสูง ไม่ใช่เพราะเราชอบนั่งอยู่กับที่ในห้องสี่เหลี่ยมหรอกครับ และเมื่อเรามีความรัก มีความภาคภูมิใจในอาชีพ ก็ยากที่ความเบื่อจะทำอะไรเราได้




วันศุกร์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2559

Basic Phase of Flight.



Basic Phase of Flight.




     ในการทำการบินแต่ละเที่ยวบินนั้นเราจะแบ่งออกเป็น phase ต่างๆ  ในแต่ละ phase ก็จะมีผลเกี่ยวเนื่องไปถึงการคำนวณปริมาณเชื้อเพลิงที่ต้องใช้ ฯลฯ  แต่...ประเด็นที่เราจะพูดถึงในวันนี้ จะว่าด้วยเรื่องการติดต่อกับเจ้าหน้าที่ ATC ในแต่ละ phase ว่าจะต้องติดต่อสื่อสารกับ ATC หน่วยไหนบ้าง แบบคร่าวๆพอสังเขปนะครับ

     1. Taxi หรือ Pre-flight Phase นักบินจะขอคำอนุญาต taxi เพื่อไปวิ่งขึ้นบน runway
 โดยติดต่อวิทยุสื่อสารกับ Ground Controller ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบการจราจรบนพื้นที่ Taxiway

     2. Takeoff Phase นักบินนำเครื่องเข้าสู่ทางวิ่ง (Runway) และเพิ่มความเร็วเพื่อนำเครื่องวิ่งขึ้น โดยจะวิทยุสื่อสารกับ Tower Controller ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบพื้นทึ่บน Runway และรับผิดชอบการจราจรทางอากาศในเขตสนามบิน (aerodrome) รัศมีประมาณ 5 NM รอบสนามบิน

     3. Departure & Climb Phase เป็นช่วงของการไต่ระดับเพื่อนำเครื่องบินเข้าสู่เส้นทางบิน โดยจะติดต่อสื่อสารกับ Approach Controller ผู้รับผิดชอบการจราจรทางอากาศในเขตประชิดสนามบิน (Approach) รัศมีประมาณ 25 NM รอบสนามบิน

     4. Cruise Phase เป็นช่วงการบินรักษาระดับความสูงในเส้นทางบิน ในช่วงนี้จะติดต่อสื่อสารกับ Area Control ซึ่งรับผิดชอบการจราจรทางอากาศในเขตเส้นทางบิน

     5. Descent & Approach Phase เป็นช่วงการลดระดับเพื่อนำเครื่องลง ณ สนามบินปลายทาง โดยจะติดต่อสื่อสารกับ Approach Controller ของสนามบินปลายทาง

     6. Landing Phase เป็นช่วงของการนำเครื่องลงบน Runway ช่วงนี้อาจจัดเป็นช่วงที่ critical ที่สุดเลยก็ว่าได้ โดยจะติดต่อสื่อสารกับ Tower Controller

     7. Taxi to apron ช่วงสุดท้ายของการบินก่อนจะนำผู้โดยสารทุกท่านถึงปลายทางโดยสวัสดิภาพ นักบินจะวิทยุสื่อสารกับ Ground Controller ทันทีที่นำเครื่องออกจาก Runway


     ทั้งนี้ การส่งผ่านการควบคุมเครื่องบินระหว่างหน่วยงาน ATC ไม่ได้ส่งกันตอนผ่านเขตควบคุมของแต่ละหน่วยกันแบบเป๊ะๆเด๊ะๆนะครับ มันจะมีช่วง common boundary ระหว่างหน่วยงาน ATC จะส่งผ่านการควบคุมกันตอนไหนมันก็ปัจจัยต่างๆที่ต้องพิจารณาร่วมด้วย

ตอน สามก๊กทั่วหล้า น่านฟ้าไทย

บทความคัดลอกจากเพจ แบไต๋ ATC  ( โพสเมื่อ 9 ก.ย. 2557 )

     เอ๊ะ!! ชื่อตอนมันฟังดูไม่ได้เกี่ยวอะไรกับ ATC เลย .. จริงๆแล้วก็ไม่มีไรมาก แค่อยากบอกว่า การควบคุมจราจรทางอากาศนั้นแบ่งออกเป็น 3 ระดับการควบคุมหรือ 3 ก๊กนั่นเอง 5555

     จากบทความตอน "ถือกำเนิด เกิดอยากเล่า" ที่เคยบอกไว้ว่านักบินกับ ATC จะต้องติดต่อสื่อสารกันตลอด ตั้งแต่การขอติดเครื่องยนต์ไปจนกระทั่งเครื่องบินจอดสนิทที่สนามบินปลายทางกันเลยทีเดียว

     เฮ้ย!!.. ATC คนเดียวจะคอนโทรลเครื่องบินกันขนาดนั้นเลยเหรอ?  ไม่ใช่ครับ!!  เราถึงต้องแบ่งเป็น 3 ก๊กไง มาติดตามกันเลยดีกว่าว่าจะมีก๊กไหนกันบ้าง

     ก๊กแรกนี้เป็นน้องเล็ก เพราะมีอาณาเขตควบคุมเล็กสุด คือมีเขตความรับผิดชอบประมาณ 5-10 ไมล์ทะเลโดยรอบสนามบิน  ความสูงตั้งแต่พื้นดินไปจนถึงประมาณ 2000 ฟุต ก๊กนี้ชื่อว่า "บริเวณท่าอากาศยาน (Aerodrome Control)" เครื่องที่จะมาลงสนามบินนี่ ถ้าไม่ติดต่อวิทยุมาก็ลงไม่ได้นะคร้าบบ เว้นแต่เครื่องจะประสบปัญหาบางอย่าง หรือกำลังอยู่ในภาวะฉุกเฉิน(Emergency) อันนี้ ATC ก็ต้องให้ความช่วยเหลืออย่างทันท่วงที และต้องให้ลำดับความสำคัญเป็นอันดับแรกเลยครับ ส่วนสถานที่ทำงานของ ATC ในระดับ Aerodrome Control ก็คือ หอควบคุมการบิน( Aerodrome Control Tower ) ที่เป็นหอคอยสูงๆในสนามบินนั่นแหละครับ

     ก๊กที่สองชื่อว่า "เขตประชิดท่าอกาศยาน (Approach Control)" ก๊กนี้มีอาณาเขตการควบคุมประมาณ 30-50 ไมล์ทะเลโดยรอบสนามบิน ความสูงตั้งแต่ 2000-11000 ฟุตเลยทีเดียว สถานที่ทำงานก็จะอยู่ในห้องเรดาร์ซึ่งอยู่ในหอบังคับการบินหรืออาจอยู่ที่ศูนย์กลางใน กทม. ซึ่งเรียกว่า Approach Control Center ก็ได้ครับ .. อ้าว! ชื่อว่าเขตประชิดท่าอากาศยานแล้วทำไมไปอยู่ศูนย์กลางที่กรุงเทพฯได้หล่ะ ทำไม่อยู่ที่สนามบินเท่านั้น ?

     ก็เพราะก๊กนี้ทำงานโดยการดูตำแหน่งเครื่องบินจากจอแสดงผลเรดาร์ติดตามอากาศยาน ไม่จำเป็นต้องมองเห็นเครื่องบินจริงๆตัวเป็นๆก็ได้ไงครับ  แค่ส่งสัญญาณเรดาร์ไปแสดงผลในที่ที่ต้องการ ก็สามารถควบคุมหรือจัดระยะห่างระหว่างเครื่องบินจากที่นั่นได้เลย

     และก๊กสุดท้ายซึ่งเป็นก๊กพี่ใหญ่ ชื่อว่า " เขตเส้นทางบิน ( Area Control ) " ที่ว่าเป็นพี่ใหญ่ก็เพราะก๊กนี้เค้ามีอาณาเขตควบคุมเส้นทางบินทั้งประเทศไทยเลยทีเดียว โอ้จอร์จมันยอดมาก เครื่องบินที่บินเข้ามาในน่านฟ้าประเทศไทย ในที่นี้จะเรียกว่า Bangkok FIR ( Bangkok Flight Information Region ) ก็จะต้องมาติดต่อ Area Control เป็นอันดับแรกเลย หลังจากนั้นจึงส่งต่อการควบคุมไปให้ Approach control และ Aerodrome control เป็นลำดับไป แต่ก็ไม่ใช่ว่า ATC ที่ทำหน้าที่ area control คนเดียวจะต้องดูแลเครื่องบนฟ้าทั้งประเทศนะครับ ยังมีการแบ่งเขตควบคุมออกเป็น 8 เขตย่อยหรือ 8 Sector ด้วยนะครับ ส่วนสถานที่ทำงานของพี่ๆเค้าก็จะอยู่ที่ส่วนกลางใน กทม. ( Area Control Center )

     สำหรับวันนี้หวังว่าน้องๆและผู้ที่สนใจคงจะได้เห็นภาพการทำงานของ ATC กันมากขึ้นอีกไม่มากก็น้อย เรียกว่าพอหอมปากหอมคอกันแล้วนะครับ สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถอ่านได้จากเว็บไซต์ของบริษัทวิทยุการแห่งประเทศไทย ( www.aerothai.co.th ) ขอบคุณที่อดทนอ่านจนจบนะครับ555 สวัสดีครับ

https://www.facebook.com/pages/%E0%B9%81%E0%B8%9A%E0%B9%84%E0%B8%95%E0%B9%8B-ATC/1485312548393581

วันพฤหัสบดีที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2558

ตอน เส้นทาง(ไม่ลัด)ของ ATC ภาค 3


บทความคัดลอกจากเพจ แบไต๋ ATC  ( โพสเมื่อ 31 ส.ค. 2557 )


     หลังจากที่ต้องตรากตรำเรียนกันมาอย่างหนัก ในที่สุดวันที่เราต้องมาประจำ ณ หอบังคับการบินส่วนภูมิภาคก็มาถึง  ใกล้จะได้เป็น ATC เข้าไปทุกที แต่เส้นทางที่เหลือกลับไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด มีทั้งเหนื่อยและสนุกปะปนกันไป เราจะต้องผ่านอะไรกันบ้าง มาร่วมเดินทาง(ไม่ลัด)กันต่อดีกว่าครับ

     เมื่อย้ายมาอยู่ศูนย์ภูมิภาคแล้วเราต้องเริ่มด้วยการทำความคุ้นเคยกับสนามบินที่มาประจำกันก่อน โดยสองสัปดาห์แรกจะต้องเรียนหลักสูตร Flight Data หรือเจ้าหน้าที่ข้อมูลการบิน โดยจะเรียนเกี่ยวกับข้อมูลพื้นฐานของสนามบินและการทำงานเบื้องต้นครับ สอบยิบย่อยเกือบทุกวันแล้วก็ต้องสอบใหญ่กันอีก


     พอเรียนจบก็จะได้ขึ้นมาอยู่บนหอบังคับการบินแล้วครับ เราต้องฝึกงานหรือ On the Job Training(OJT) ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ข้อมูลการบินหรือ Flight Data Officer(FDO) เป็นเวลาอย่างน้อยประมาณ 1 เดือนหรือนานกว่านั้น ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยครับ การทำงานในช่วงนี้ ยังไม่ได้จับไมค์วิทยุสื่อสารกับนักบินครับ แต่ที่เหลือก็ต้องฝึกทำทั้งหมด และต้องใช้โอกาสนี้เรียนรู้ศึกษาการทำงานของพี่ๆ ATC ไปด้วย

     เนื่องจากลักษณะทางกายภาพและสภาพการจราจรทางอากาศของแต่ละสนามบินมีความแตกต่างกัน การจัดการ Traffic ก็ย่อมต้องมีความแตกต่างกันบ้าง เหมือนการเล่นฟุตบอลที่ทุกทีมต้องใช้กฏกติกาเดียวกัน แต่ก็จะมีรูปแบบการเล่นที่แตกต่างกันไปในแต่ละทีม

     เราต้องหมั่นสังเกตุเหตุการณ์จดจำลักษณะต่างๆให้ได้มากที่สุด เช่น ลักษณะและความเร็วของเครื่องบินแบบต่างๆ , ระยะเวลาที่เครื่องบินใช้ในการเคลื่อนตัวจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งของสนามบินที่เรียกว่าการ Taxi , การเข้ามาลงสนามบินแบบต่างๆของเครื่องบิน , ความเร็ว , ความสูงที่ใช้ ฯลฯ เมื่อ OJT ครบตามระยะเวลาที่บริษัทกำหนดแล้วก็ต้องสอบให้ผ่านเกณฑ์เพื่อรอเรียนในหลักสูตรต่อไปครับ


     หลังจาก OJT ครบตามเวลาและสอบผ่านแล้ว ก็จะได้ปรับเลื่อนตำแหน่งเป็น "เจ้าหน้าที่ข้อมูลการบิน" ให้ได้ชื่นใจขึ้นมาหน่อย  จากนั้น อีกหนึ่งหลักสูตรที่ต้องเรียนคือหลักสูตร Aerodrome ซึ่งใช้เวลาเรียน 3 เดือนครับ การเรียนจะคล้ายกับตอนเรียนภาค Aerodrome ที่สถาบันการบินพลเรือน แต่ในภาคทฤษฎีจะโฟกัสที่ข้อมูลสนามบินของเราเป็นส่วนใหญ่ และในภาคปฏิบัติจะเปลี่ยนจากการทำ Simulation ของสนามบินดอนเมืองมาเป็นสนามบินที่เราปฏิบัติงาน และที่สำคัญคือเพิ่มระดับความยากและปริมาณ Traffic ให้มากขึ้นอีกครับ เรียนจบแล้วก็เช็ค รอบนี้มาเต็มทั้งข้อเขียน , Oral test และ Sim ครับ

     เมื่อสอบผ่านแล้วก็ต้องกลับขึ้นมาบนหอบังคับการบินอีกครั้งเพื่อ OJT ในตำแหน่ง ATC .. ได้จับไมค์จริงๆแล้วคร้าบ !! ครั้งแรกนี่ตื่นเต้นน่าดูเลย เพราะครั้งนี้ไม่ใช่เครื่องบินจำลอง แต่เป็นเครื่องบินจริง นักบินจริง ผู้โดยสารจริงไม่มีสแตนอินเด้อ  แต่ก็ยังอุ่นใจเพราะเราไม่ได้ทำงานคนเดียวครับ จะมีรุ่นพี่ที่มีประสบการณ์(Coach)ประกบอยู่ข้างหลังตลอด ไมค์ก็มีสองอัน หากเกิดอะไรขึ้น Coach ก็สามารถกดไมค์ของตัวเองได้เลย ส่วนไมค์ของเราก็จะโดนตัดสัญญานไปเลยครับ

     ในช่วง OJT นี้นอกจากรุ่นพี่จะพยายามถ่ายทอดประสบการณ์ให้เราอย่างเต็มที่แล้ว บางคนยังมีคำถามให้เราอยู่บ่อยๆ ถ้าตอบไม่ได้ก็ต้องไปหาข้อมูลมา มีการบ้านเป็นประจำครับ อิอิ ช่วงที่เรามี Coach ประกบอยู่ก็ต้องพยายามเก็บเกี่ยวประสบการณ์ให้ได้มากที่สุด เพราะวันที่เราได้เป็น ATC ตัวจริงแล้ว หันไปข้างหลังไม่มีคนประกบ ไม่มีใครให้เราถามมันหนาวมากนะครัช 555

     เมื่อ OJT ได้ประมาณ 3 เดือนก็ต้อง Pre-Check กับคณะครูและรุ่นพี่ผู้ทรงคุณวุฒิ การสอบในช่วงหลังๆนี่ไม่ต้องห่วงครับ จัดเต็มขึ้นเรื่อยๆทุกรอบ555 หากสอบผ่าน รายชื่อเราก็จะถูกส่งไปให้หน่วยงานควบคุมมาตรฐานของบริษัทที่สำนักงานใหญ่ เพื่อขอรับการทดสอบภายในครั้งสุดท้ายก่อนจะส่งไปสอบรับใบอนุญาตผู้ประจำหน้าที่ ที่กรมการบินพลเรือน

     ในระหว่างที่รอกรรมการสอบจากส่วนกลาง ก็ OJT เก็บเกี่ยวประสบการณ์และเตรียมตัวอ่านหนังสือให้พร้อมรับศึกหนักกันไปก่อนครับ ระยะเวลาที่รอไม่แน่นอน ต้องเตรียมตัวให้พร้อมอยู่เสมอ บางทีอาจรู้กำหนดการสอบล่วงหน้าแค่ไม่กี่วันก็ได้นะครับ

     พอกำหนดการสอบออกมาก็เริ่มตื่นเต้นแล้วซิ  การสอบรอบนี้แข้มข้นเป็นพิเศษกว่ารอบก่อนๆ เพราะเป็นเสมือนการจำลองการสอบกับกรมการบินพลเรือน ซึ่งเป็นด่านสุดท้ายก่อนรับใบอนุญาต จึงต้องเข้มงวดเป็นพิเศษกว่าการสอบรอบๆ กรรมการสอบบางท่านจะดุนิสนึง ทั้งที่เคยเจอกันก่อนหน้านี้ก็ยังใจดีอยู่เลย ท่านบอกว่าเวลาปกติกับเวลาสอบมันคนละบทบาทกันครับ 555

     ความรู้ที่ร่ำเรียนมาทั้งหมดทั้งมวลโดนเอามาถามหมด และต้องเข้าใจจริงๆครับไม่ใช่แค่ท่องจำมา มิฉนั้นแล้วอาจโดนกรรมการต้อนให้จนมุม หรือไม่ก็พาออกทะเลลอยคออยู่คนเดียวไม่มีใครไปรับกลับเข้าฝั่งนะคร้าบ อันนี้ล้อเล่นนะ แฮะๆ กรรมการท่านไม่โหดร้ายขนาดนั้นครับ แต่ที่ต้องถามลึกก็เพื่อจะทดสอบว่าเราเข้าใจแค่ไหน ตรงไหนที่ยังเข้าใจผิดก็จะได้รู้และทำความเข้าใจให้ถูกต้อง ซึ่งตรงนี้ผมคิดว่ามีประโยชน์มากๆ

     นอกจากสอบข้อเขียน , Oral test และ Sim แล้ว รอบนี้ยังมีเพิ่มมาอีกอย่างคือการดูการทำงานจริง โดยกรรมการจะเลือกช่วงเวลาดูการทำงานในช่วงที่ Traffic หนาแน่นที่สุดของวัน(ถ้าเป็นไปได้) ท่านบอกว่า Traffic ไม่ยากมันก็ไม่หนุก หุหุ กรรมการจะดูตั้งแต่เราเริ่มเดินขึ้นมาบนหอฯเลยครับว่าทำทุกอย่างครบถ้วนกระบวนความหรือไม่ เวลามีเครื่องบินก็ทำงานไป แต่อย่าเผลอว่างนะ ท่านเห็นอะไรบนหอฯก็เอามาถามได้หมด อุปกรณ์ตัวนั้นตัวนี้คืออะไร ทำงานยังไง ถ้าเสียแจ้งหน่วยงานไหน แจ้งนักบินด้วยมั้ย มีผลกระทบกับการบินหรือไม่อย่างไร บลา บลา บลา...

     หากสอบผ่านเกณฑ์แล้ว บริษัทก็จะส่งรายชื่อเพื่อขอสอบรับใบอนุญาตไปที่กรมการบินพลเรือน โดยเราจะต้องมาสอบภาคทฤษฎีที่กรมฯ ถ้าสอบผ่าน ทางกรมฯจะส่งกรรมการมาสอบ Oral test , Sim และดูการทำงานจริงที่ศูนย์ควบคุมการบินของเรา การสอบก็จะเหมือนกับรอบที่แล้วครับ ถ้าสอบผ่าน การเป็น ATC ก็อยู่แค่เอื้อมแล้ว

     แต่ก็ยังไม่หมดนะครับ ในระหว่างรอผลสอบจากกรมฯเรายังต้องไปสอบวัดระดับภาษาอังกฤษขององค์กรการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ให้ผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำคือ Level 4 ด้วยด้วยนะครับ ถ้าสอบภาษาอังกฤษไม่ผ่าน ที่ทำมาทั้งหมดก็จบเบย ทำงานไม่ได้นะจ๊ะ


       รวมเวลาตั้งแต่วันแรกที่มาประจำศูนย์ภูมิภาคจนถึงวันที่ได้รับใบอนุญาตทำงาน ก็ต้องใช้เวลาประมาณ 12-18 เดือน หรือถ้ารวมเวลาตั้งเริ่มเข้าบริษัทมาก็ใช้เวลาไป 2 ปีกว่าหรืออาจจะเกือบ 3 ปีเลยทีเดียว เห็นมั้ยครับว่าการผลิต ATC(มือใหม่) แต่ละคนนั้นต้องใช้เวลายาวนาน ค่าใช้จ่ายทั้งที่เห็นชัดเจนและค่าใช้จ่ายแฝงต่างๆ รวมแล้วบริษัทต้องใช้งบประมาณในหลักล้าน
       เพราะฉนั้นหากใครได้มาทำงานตรงนี้ก็จงภูมิใจได้เลยครับว่าเราเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าของบริษัท จึงควรทำงานอย่างเต็มภาคภูมิและเต็มความสามารถเพื่อทดแทนคุณบริษัทที่ให้โอกาสเรา เพื่อความพึงพอใจของผู้รับบริการควบคุมจราจรทางอากาศ(นักบิน) และที่สำคัญที่สุดคือเพื่อความปลอดภัยของทุกคนบนเครื่องบินครับ


     หวังว่าแบไต๋ ATC ตอน เส้นทาง(ไม่ลัด)ของ ATC ทั้งสามภาค จะเป็นประโยชน์และช่วยเปิดโลกแห่งการบินให้กว้างขึ้นสำหรับผู้ที่สนใจได้ไม่มากก็น้อยครับ ขอบคุณทุกๆท่านที่ติดตามอ่านเรื่องราวของ ATC(มือใหม่) ที่อยากแบไต๋ให้คนทั่วไปได้รู้จักอาชีพนี้มากขึ้นครับ สวัสดีครับ ^^


ขอบคุณภาพประกอบจาก www.aerothai.co.th


https://www.facebook.com/pages/%E0%B9%81%E0%B8%9A%E0%B9%84%E0%B8%95%E0%B9%8B-ATC/1485312548393581

วันพุธที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2558

ตอน เส้นทาง(ไม่ลัด)ของ ATC ภาค 2


บทความคัดลอกจากเพจ แบไต๋ ATC  ( โพสเมื่อ 28 ส.ค. 2557 )

     และแล้วก็เดินทางมาถึงวันประกาศผลสอบรอบสุดท้ายจนได้ วันนั้นรู้สึกเหมือนยกภูเขาออกจากอกเลยครับ ดีใจและโล่งฝุดๆ 555 คิดว่าเหนื่อยจากการเตรียมตัวสอบมาเป็นเวลานานแล้ว ต่อจากนี้จะได้สบายซะที แต่ความจริงแล้วไม่ใช่เลยครับ มันเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเดินทางเท่านั้น เส้นทางจะเป็นยังไง มาร่วมเดินทาง(ไม่ลัด)กันต่อเลยครับ

     แต่ก็อย่างเคย คือต้องขอออกตัวไว้ก่อนว่า เรื่องราวเป็นประสบการณ์และความคิดเห็นส่วนตัวล้วนๆ อ่านได้แค่พอเพลินๆ เพราะอาจมีการเปลี่ยนแปลงอะไรก็ได้ตามที่บริษัทเห็นสมควรนะจ๊ะ


     เมื่อผ่านการคัดเลือกแล้วทุกคนจะต้องเรียนหลักสูตร Intensive เป็นเวลา 3 เดือน ที่สำนักงานใหญ่ ทุ่งมหาเมฆ  โดย 3 เดือนนี้จะถือเป็นการทดลองงานด้วยครับ การเรียนจะแบ่งเป็นภาคทฤษฎีประมาณ 1 เดือนและภาคปฏิบัติ(Simulation)ประมาณ 2 เดือน เนื้อหาการเรียนจะเป็นการปูพื้นฐาน(ที่ไม่ค่อยพื้นสักเท่าไหร่)ที่จำเป็นสำหรับ ATC เช่น Theory of flight , Meteorology , Air navigation , Rule of the air และอื่นๆอีกมากมายก่ายกองอย่างไม่น่าเชื่อว่าจะเรียนได้ทั้งหมดในเวลาอันจำกัดขนาดนี้

     โดยส่วนใหญ่ก็จะเน้นหนักในเนื้อหาที่เกี่ยวกับ ATC โดยตรง เช่น การจัดระยะห่าง(Separation)ระหว่างเครื่องบิน , กฏการบิน ฯลฯ โดยจะมีการสอบวัดผลในแต่ละรายวิชา  และต้องผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำของแต่ละวิชาด้วย เมื่อเรียนจบ 3 เดือนก็มีการสอบใหญ่อีก ถ้าไม่ผ่านก็จะไม่ได้เซ็นสัญญาบรรจุ เท่ากับตกงานนะคร้าบ!! เราจึงต้องเรียนกันหนักสุดๆ เรียกว่าเดินมึนกลับบ้านทุกวัน กลับมาถึงบ้านแล้วก็ยังต้องมึนกันต่อเพราะต้องทบทวนของเดิมอ่านของใหม่กันอีก ทั้งเหนื่อยทั้งมันส์จริงๆครับ  แต่เท่าที่ผ่านมาก็เห็นสอบผ่านกันหมดนะ เพราะอุตส่าห์มาไกลขนาดนี้แล้ว ทุกคนมีความกระตือรือล้นและมีความพยายามกันหมดครับ  จากที่เคยขี้เกียจก็โดนสถานการณ์บีบบังคับให้กลายเป็นคนขยันไปซะงั้น

     เมื่อผ่านหลักสูตร Intensive แล้วเราก็จะได้บรรจุเป็นพนักงานบริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด ในต่ำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป คนที่เรียนจบ ป.ตรี สาขา ATC จากสถาบันการบินพลเรือนมาโดยตรงก็จะต้องย้ายไปประจำ ณ ศูนย์ควบคุมการบินส่วนภูมิภาคเลยครับ แต่ยังไม่ได้ทำงานนะ ก็ยังต้องไปเรียนกันต่ออีก ผมจะเล่าให้ฟังทีหลัง

     ส่วนคนที่จบสาขาอื่นๆมานั้น บริษัทจะส่งไปเรียนหลักสูตร Air Traffic Control License Rating(ATC LR) ที่สถาบันการบินพลเรือน(สบพ.)เป็นเวลา 9 เดือนครับ โดยหลักสูตรจะแบ่งเป็น 3 ภาคคือ Aerodrome , Approach และ Area ครับ

     เอ่อ..แล้ว 3 อย่างนี้มันคืออะไรอ่ะ  เอาไว้ผมจะมาเล่าให้ฟังในบทความต่อไปนะครับ การเรียนจะมีทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติโดยการเข้า Simulator ครับ การเรียนในช่วงนี้ก็หนักหนาไม่แพ้การเรียน Intensive สักเท่าไหร่เลยครับ เรียนจบหนึ่งเรื่องก็ต้องสอบวัดผลกันเลย เรียนๆสอบๆตลอดครับ เรียกว่าสอบกันทุกสัปดาห์เลยทีเดียว บางสัปดาห์สอบ 2-3 ครั้งเลยก็มีนะครับ555

     เมื่อเรียนจบหลักสูตรที่ สบพ. แล้วก็ต้องกลับมาสำนักงานใหญ่ ทุ่งมหาเมฆอีกเพื่อเรียน Human factor และ Crew Resource Managemrnt(CRM) อีกประมาณ 1-2 สัปดาห์ครับ และช่วงนี้ก็จะเป็นช่วงที่น่าตื่นเต้นที่สุดเลยครับ เพราะเราต้องสอบครั้งใหญ่อีกหนึ่งครั้งเพื่อคัดแยกศูนย์ควบคุมการบินภูมิภาคที่เราจะต้องไปประจำอีกเป็นปีๆเลยครับ บางคนติดใจต่างจังหวัด อยู่ยาวเลยก็มี

     การสอบจะมีทั้งข้อเขียน , ปฏิบัติ และ Oral test ครับ ใครได้คะแนนเยอะสุดก็มีสิทธิ์ได้เลือกก่อนครับ ส่วนศูนย์ควบคุมการบินที่จะให้เลือกและจำนวนคนที่จะได้ไปก็ขึ้นอยู่กับความต้องการบุคลากรของแต่ละศูนย์ ณ ขณะนั้นครับ บางปีอาจมีศูนย์ให้เลือกเยอะหน่อย บางปีอาจมีแค่สองศูนย์ก็เป็นได้ครับ กว่าผลจะออกนี่ลุ้นกันสุดๆจนวันสุดท้ายเลยครับว่าจะได้ไปอยู่ที่ไหน

     และนี่คืออีกหนึ่งสิ่งที่คุณจะต้องรับให้ได้หากต้องการเป็น ATC ครับ เพราะ ATC จะต้องเริ่มปฏิบัติงานเป็น Aerodrome Controller ก่อนครับ นั่นหมายความว่าคุณจะต้องไปอยู่ต่างจังหวัดระยะนึงก่อนแล้วค่อยย้ายกลับเข้ากทม.  แต่ถ้ามีความต้องการอยู่ต่างจังหวัดต่อก็ได้นะครับ และไม่ต้องห่วงว่าอยู่ต่างจังหวัดแลัวจะลำบากนะครับเพราะบริษัทมีสวัสดิการบ้านพักรถรับส่งพร้อมครับ ยิ่งบางศูนย์นี่มีสนามกอล์ฟ สระว่ายน้ำ สนามกีฬากลางแจ้งในร่มครบครันเลยครับ

     ที่ผ่านมาทั้งหมดนี้เป็นเพียงการเรียนพื้นฐานซึ่งเราจะยังทำงานจริงไม่ได้นะครับ ยังจะต้องไปเรียนต่อที่ศูนย์ควบคุมการบินที่เราไปประจำอีก คล้ายๆกับการเรียนเฉพาะด้านแหละ เพราะแต่ละสนามบินก็ย่อมมีรายละเอียดและลักษณะไม่เหมือนกัน ซึ่งเบื้องต้นของการเรียนตั้งแต่เริ่ม มาจนถึงวันนี้ นี้ก็ใช้เวลาไปแล้วหนึ่งปีเต็ม เพราะนี่คืองานที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยและชีวิตคนบนเครื่องบินอีกนับร้อยชีวิตซึ่งประเมินค่าไม่ได้ ดังนั้นเส้นทางของ ATC จึงไม่มีทางลัดแน่นอนครับ แต่เส้นทางจะเป็นอย่างไรต่อต้องมาติดตามกันในภาค 3 นะครับ สำหรับวันนี้ ราตรีสวัสดิ์ครับ^^

https://www.facebook.com/pages/%E0%B9%81%E0%B8%9A%E0%B9%84%E0%B8%95%E0%B9%8B-ATC/1485312548393581

ตอน เส้นทาง(ไม่ลัด)ของ ATC ภาค 1


บทความคัดลอกจากเพจ แบไต๋ ATC  ( โพสเมื่อ 26 ส.ค. 2557 )


     เชื่อว่าทุกสาขาอาชีพและทุกความสำเร็จนั้นเส้นทางคงไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเป็นแน่   ATC ก็เช่นเดียวกันครับ กว่าจะเรียนรู้ฝึกฝนเพื่อหล่อหลอมให้คนธรรมดาซึ่งไม่มีความรู้ทางด้านนี้มาก่อนสามารถปฏิบัติงานด้วยความปลอดภัยมันต้องใช้เวลาเป็นแรมปี ต้องเหนื่อยและผ่านอุปสรรคมากมายเรียกว่าสาหัสก็ว่าได้เลยครับ  
     แต่น้องๆที่อยากมาทำงานตรงนี้ไม่ต้องกลัวไปก่อนนะครับเพราะไม่มีอะไรเอาชนะความพยายามของคนเราได้หรอกครับ จริงมั้ย แล้วไอ้ที่ว่ายากและใช้เวลานานเนี่ย พูดแค่นี้คงมองไม่เห็นภาพแน่ มาเดินทาง(ไม่ลัด)ไปด้วยกันดีกว่าครับ

     เจ้าหน้าที่ ATC ในประเทศไทยส่วนใหญ่นั้นจะสังกัดบริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงคมนาคมครับ จะมีบางส่วนที่เป็นพี่ๆ ATC ทหารซึ่งจะประจำอยู่ตามสนามบินทหารหรือสนามบินร่วมระหว่างทหารกับพลเรือน  โดยบริษัทวิทยุจะเปิดรับสมัครบุคคลเพื่อเข้ารับการทดสอบทุกปีครับ จำนวนที่รับก็แล้วแต่ความต้องการในปีนั้น โดยส่วนใหญ่ที่ผ่านมาก็จะรับรุ่นละไม่เกิน 20 คนครับ ผู้สมัครจะต้องอายุไม่เกิน 27 ปี สัญชาติไทย ข่าวดีก็คือจบ ป.ตรีสาขาอะไรก็ได้ครับมาสมัครได้หมด แต่ต้องมีผลสอบ TOEIC 650 คะแนนขึ้นไปนะครับ 

     การสอบจะแบ่งเป็น 5 ด่านอรหันต์ ด่านแรกคือการสอบข้อเขียน มีข้อสอบ 3 ชุด ชุดละ 50 ข้อ แบ่งเป็น วิชาคณิตศาสตร์+ฟิสิกส์ , วิชาความถนัด(Aptitute) , ความรู้ทั่วไปและความรู้ด้านคอมพิวเตอร์ โดยให้เวลาทำ 3 ชม. อันนี้ต้องบริหารเวลาให้ดีนะจ๊ะ
     หากผ่านรอบแรกมาแล้วรอบสองก็เป็นคิวของการสอบพิมพ์ดีดแล้วครับ รอบนี้ถือว่าไม่ยากเพราะโปรแกรมที่ใช้สอบก็หาซื้อได้ทั่วไปมาซ้อมกันก่อน โดยจะต้องพิมพ์ให้ได้ 25 คำต่อนาที ไม่ยากเนอะแต่มีคนตกนะ หุหุ เราต้องคุมอารมณ์ให้ได้เพราะถ้าตื่นเต้นจนมือสั่นระทวย เรื่องง่ายก็กลายเป็นเรื่องยากได้เหมือนกันนะ

     ผ่านด่านสองมาได้แล้วด่านสามก็เป็นคิวของการตรวจร่างกายและการสอบวัดความถนัดที่สถาบันเวชศาสตร์การบิน โรงพยาบาลภูมิพลครับ รอบนี้แค่เป็นตัวของตัวเองก็พอ เพราะเค้าใช้ข้อสอบเชิงจิตวิทยามาคัดกรองเบื้องต้นว่าเรามีความถนัดที่จะเป็น ATC ได้หรือไม่ หากไม่ผ่านก็ไม่ต้องคิดมากนะครับเพราะไม่ได้หมายความว่าเราไม่เก่ง เราแค่ไม่ถนัดในอาชีพนี้ก็เท่านั้นเอง  ผมเองก็ไม่ใช่คนเก่ง หรือออกจะไม่เก่งด้วยซ้ำไป5555+

     และแล้วก็มาถึงอรหันต์ด่านที่สี่ ด่านนี้ดูเหมือนไม่ยากแต่ขุนพลต้องมาตกม้าตายในด่านนี้กันไม่น้อยเหมือนกัน เพราะด่านนี้คือ..ด่านสัมภาษณ์ภาษาอังกฤษ แฮะๆ .. เนื่องมาจากองค์กรการบินระหว่างประเทศ(ICAO) ได้แบ่งระดับทักษะทางภาษาอังกฤษออกเป็น 6 ระดับ โดยนักบินและ ATC จะต้องสอบผ่านในระดับ 4(Level 4)ขึ้นไป ดังนั้นเราจึงต้องมาสอบในอรหันต์ด่านนี้เพื่อให้แน่ใจว่าเมื่อเข้ามาทำงานกับบริษัทแล้วคุณจะต้องสอบผ่าน Level 4 แน่ๆ  มิฉนั้นก็ปฏิบัติงานไม่ได้ตามที่กฎหมายการบินกำหนดด้วยประการทั้งปวงนะคร้าบ

     ผ่านมาถึงด่านสุดท้ายแล้ว หันซ้ายหันขวาทำไมเหลือคนน้อยจัง รู้สึกเหงาพิลึก และต้องออกตัวไว้ก่อนว่าที่จะเล่านี่ ประสบการณ์ส่วนตัวล้วนๆนะจ๊ะ เพราะที่ถามคนอื่นมา แต่ละคนเจอไม่เห็นเหมือนกันเลย บางคนบอกว่าสนุกดี เน้นฮา บางคนเรียบๆเรื่อยๆ ส่วนของผมนี่ขอบอกว่ามันส์มาก ด่านที่ว่านี้คือด่านสัมภาษณ์กับคณะกรรมการประมาณ 4-5 คน โดยกรรมการจะแบ่งเป็นฝ่ายบู๊กับฝ่ายบุ๋น หรือฝ่ายโหดกับฝ่ายใจดีว่างั้น แต่บางคนก็นั่งนิ่งๆทำหน้ายิ้มๆนะ อันนี้ผมว่าน่ากลัวสุดเพราะไม่รู้ว่าในใจท่านกำลังคิดอะไร 555 การสัมภาษณ์ในรอบนี้จะใช้เวลาประมาณ 40-50 นาทีโดยเฉลี่ย คำถามก็เริ่มจากซักถามประวัติ หลังจากนั้นคำถามอื่นก็จะพรั่งพรูตามมา ตอบคำถามคนแรกยังไม่ทันเสร็จอีกคนก็เริ่มถามต่อ กดดันกันแบบสุดๆ มีให้คิดเลขในใจแล้วก็ต้องตอบคำถามอื่นไปด้วย อาจเป็นเพราะในการทำงานจริงบางครั้งเครื่องบินเข้ามาติดต่อพร้อมๆหรือใกล้เคียงกันหลายลำ แทบไม่ได้หยุดพูดหรือมีเวลาให้คิดมากนัก เราจึงต้องบริหารจัดการความเครียด จัดลำดับความคิดและจัดลำดับความสำคัญให้ได้ครับ เรียกว่าต้องทำงานหลายอย่างในเวลาเดียวกัน ทั้งตาดูหูฟังสมองคิดปากพูดมือขวาจดมือซ้ายกดปุ่ม ประมาณนั้นเชียวหล่ะ  

     และที่สำคัญคือการควบคุมอารมณ์ ไม่หงุดหงิดเมื่อโดนกดดัน ไม่ประหม่าตกใจจนเกินควรเมื่อเกิดเหตุการณ์คับขันหรือเร่งเร้า เพราะในสถาณการณ์จริงหาก ATC ตกใจจนสติหลุดลมปรานแตกซ่าน อันนี้ท่านผู้โดยสารและนักบินที่เคารพก็คงสนุกไม่ออกเป็นแน่ ฟันธง!!  มันก็คงเป็นเหตุผลให้การสอบสัมภาษณ์ถึงต้องออกมาประมาณนี้กระมัง สรุปเดินออกจากห้องสอบแบบมึนๆเพราะโดนท่าดูดวิญญาณของคณะกรรมการเข้าไป ดีที่ยังคุมสติตอบคำถามและเดินออกมาจากห้องสอบได้ 555 และแล้วก็กลับบ้านนอนตีพุงรอฟังผลครับ

     ทั้งหมดนี้ตั้งแต่ขั้นตอนการรับสมัครจนประกาศผลรอบสุดท้ายก็กินเวลาประมาณ 5-6เดือนกันเลยทีเดียว เห็นมั้ยครับ แค่กระบวนการค้นหาดาวรุ่งดวงใหม่มาเป็น ATC ก็ยังกินเวลานานเลย แล้วกระบวนการฝึกอบรมจะเป็นยังไงต้องคอยติดตามกันต่อในภาคที่สองนะครับ สำหรับวันนี้ โชคดีมีชัยกันทุกๆท่าน สวัสดีครับ


ตอน ถือกำเนิด เกิดอยากเล่า


บทความคัดลอกจากเพจ แบไต๋ ATC     
ภาพประกอบจาก www.aerothai.co.th
       ( โพสเมื่อ 24 ส.ค. 2557 )
------------------------------------------

     วันนี้พอมีเวลาว่างก็เลยอยากจะเขียนบทความเล่าเรื่องราวอาชีพของตัวเองบ้าง  
อันเนื่องมาจากเวลามีเพื่อนเก่าหรือใครก็ตามมาถามว่าเราทำอะไรอยู่ที่ไหน  พอตอบว่าเป็น ATC ก็ปรากฎว่าร้อยละ 90 ต้องทำหน้างงๆว่ามันคืออะไร  บางคนก็ถามว่ามันคือคนที่ถือไม้ปิงปองโบกเครื่องบินอยู่ในลานจอดเหรอ 555   

     อันนี้ต้องแอบขำในใจ  เพราะในเมืองไทยนั้นอาชีพ ATC ยังไม่เป็นที่รู้จักของคนทั่วไปจริงๆ  อาจเป็นเพราะ ATC ต้องทำงานอยู่บนหอบังคับการบิน( Control Tower ) หรือไม่ก็หน้าจอเรดาร์  ก็เลยไม่ได้ออกสื่อให้คนทั่วไปได้รู้จักมั้ง  จริงๆแล้ว ATC เป็น 1 ใน 3 อาชีพที่มีรายได้ดีที่สุดในวงการการบินเลยนะ  ส่วนอีกสองอาชีพก็คงเป็นที่รู้กัน  นั่นก็คือนักบินและพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินนั่นเอง  นี่ไม่ได้โม้นะ 555  แค่อยากให้เยาวชนไทยได้รู้จักอาชีพนี้มากขึ้น  จะได้มีโอกาสและหนทางไว้ให้เลือกเดินมากขึ้นไงครับ

     ATC ย่อมาจาก Air Traffic Controller หรือภาษาไทยเรียกว่า "เจ้าหน้าที่ควบคุมจราจรทางอากาศ"  มีหน้าที่จัดการจราจรในห้วงอากาศ  เพื่อไม่ให้เครื่องบินชนกัน  มีความรวดเร็ว  คล่องตัว  แต่ที่สำคัญที่สุดคือความปลอดภัยครับ    โดย ATC จะต้องจัดลำดับความสำคัญว่าจะให้เครื่องบินลำไหนขึ้นหรือลงก่อนหลัง  ใช้ความสูงเท่าไหร่  บินไปทางไหน  บินห่างกันเท่าไหร่  ก็เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ว่ามานั่นแหละ  

     หลายคนคงเคยเห็นภาพนักบินใส่หูฟังมีไมโครโฟนอยู่ก็อาจสงสัยว่าเค้าใช้คุยกับใครกัน  ก็ใช้คุยกับATC นี่แหละ  นักบินกับ ATC ต้องมีการสื่อสารกันตลอดครับ  เรียกว่าแทบทุกขั้นตอนกันเลยทีเดียว  ตั้งแต่การติดเครื่องยนต์(Start up)ก็ต้องขออนุญาตจาก ATC  จะเคลื่อนตัวไปตามจุดต่างๆในสนามบิน(Taxi)ก็ต้องขอคำอนุญาตจาก ATC  จนมาตั้งตัวบน Runway เพื่อวิ่งขึ้น(Take off)ก็ต้องได้รับคำอนุญาตจาก ATC ครับ   และก็ยังจะต้องติดต่อสื่อสารกันแบบนี้ไปเรื่อยๆจนเครื่องบินไปถึงสนามบินปลายทาง  จนเครื่องจอดเสร็จเรียบร้อยเลยครับ   ส่วนรายละเอียดและขั้นตอนการทำงานนั้นจะให้เขียนทั้งหมดก็คงจะเยอะไป ผมขี้เกียจเขียนครับ เอ้ย ล้อเล่น  เอาไว้ผมจะมาเล่าให้ฟังละเอียดขึ้นในโอกาสต่อไปนะครับ

     ATC นั้นเป็นหนึ่งในอาชีพที่มีความเครียดมากที่สุดในโลกเลยก็ว่าได้  ดังนั้นคนที่จะมาเป็น ATC จึงต้องรู้จักบริหารความเครียดได้อย่างเหมาะสม  แต่ท่านผู้โดยสารไม่ต้องห่วงนะครับเพราะถึงแม้ ATC จะต้องทำงานอยู่บนความเครียด  จึงทำให้เกิดความล้าในการทำงานได้ง่าย  แต่เพื่อความปลอดภัยสูงสุดเราจึงทำงานติดต่อกันแค่ 2 ชม. และพัก 1 ชม. ทั้งนี้ก็จะมีการปรับเปลี่ยนบ้างขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละหอบังคับการบินครับ   

     นอกจากการบริหารความเครียดแล้ว  ATC ก็ยังจะต้องทำงานเป็นทีมได้เป็นอย่างดี  มีความรับผิดชอบสูง  และรักในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ  เพราะเทคโนโลยีในด้านการบินนั้นเปลี่ยนแปลงและทันสมัยขึ้นอยู่ตลอดเวลา   ATCเองก็ต้องเรียนๆสอบๆอยู่ตลอดชีวิตการทำงานนะครับ

     พูดกันมาถึงตรงนี้ก็คงพอจะเห็นภาพของ ATC กันแบบคร่าวๆกันแล้วนะครับ  แต่เดี๋ยวก่อน เรื่องราวเกี่ยวกับ ATC และอาชีพต่างๆในแวดวงการบินยังมีให้เล่าสู่กันฟังอีกเยอะแยะมากมายเลยครับ  แล้วผมจะมาเล่าให้ฟังกันต่อในโอกาสหน้านะครับ  วันนี้เอาแค่น้ำจิ้มกันไปก่อนเด้อ  หวังว่าบทความนี้คงจะเป็นประโยชน์ให้กับน้องๆที่กำลังอยากจะเข้ามาสัมผัสกับแวดวงการบินไม่มากก็น้อยนะครับ  อย่างไรก็แล้วแต่ การทำงานที่เรารักและมีความสุขกับการทำงานย่อมเป็นลาภอันประเสริฐครับ  แล้วเจอกันใหม่ครับ สวัสดีครับ