วันพุธที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2558

ตอน ถือกำเนิด เกิดอยากเล่า


บทความคัดลอกจากเพจ แบไต๋ ATC     
ภาพประกอบจาก www.aerothai.co.th
       ( โพสเมื่อ 24 ส.ค. 2557 )
------------------------------------------

     วันนี้พอมีเวลาว่างก็เลยอยากจะเขียนบทความเล่าเรื่องราวอาชีพของตัวเองบ้าง  
อันเนื่องมาจากเวลามีเพื่อนเก่าหรือใครก็ตามมาถามว่าเราทำอะไรอยู่ที่ไหน  พอตอบว่าเป็น ATC ก็ปรากฎว่าร้อยละ 90 ต้องทำหน้างงๆว่ามันคืออะไร  บางคนก็ถามว่ามันคือคนที่ถือไม้ปิงปองโบกเครื่องบินอยู่ในลานจอดเหรอ 555   

     อันนี้ต้องแอบขำในใจ  เพราะในเมืองไทยนั้นอาชีพ ATC ยังไม่เป็นที่รู้จักของคนทั่วไปจริงๆ  อาจเป็นเพราะ ATC ต้องทำงานอยู่บนหอบังคับการบิน( Control Tower ) หรือไม่ก็หน้าจอเรดาร์  ก็เลยไม่ได้ออกสื่อให้คนทั่วไปได้รู้จักมั้ง  จริงๆแล้ว ATC เป็น 1 ใน 3 อาชีพที่มีรายได้ดีที่สุดในวงการการบินเลยนะ  ส่วนอีกสองอาชีพก็คงเป็นที่รู้กัน  นั่นก็คือนักบินและพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินนั่นเอง  นี่ไม่ได้โม้นะ 555  แค่อยากให้เยาวชนไทยได้รู้จักอาชีพนี้มากขึ้น  จะได้มีโอกาสและหนทางไว้ให้เลือกเดินมากขึ้นไงครับ

     ATC ย่อมาจาก Air Traffic Controller หรือภาษาไทยเรียกว่า "เจ้าหน้าที่ควบคุมจราจรทางอากาศ"  มีหน้าที่จัดการจราจรในห้วงอากาศ  เพื่อไม่ให้เครื่องบินชนกัน  มีความรวดเร็ว  คล่องตัว  แต่ที่สำคัญที่สุดคือความปลอดภัยครับ    โดย ATC จะต้องจัดลำดับความสำคัญว่าจะให้เครื่องบินลำไหนขึ้นหรือลงก่อนหลัง  ใช้ความสูงเท่าไหร่  บินไปทางไหน  บินห่างกันเท่าไหร่  ก็เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ว่ามานั่นแหละ  

     หลายคนคงเคยเห็นภาพนักบินใส่หูฟังมีไมโครโฟนอยู่ก็อาจสงสัยว่าเค้าใช้คุยกับใครกัน  ก็ใช้คุยกับATC นี่แหละ  นักบินกับ ATC ต้องมีการสื่อสารกันตลอดครับ  เรียกว่าแทบทุกขั้นตอนกันเลยทีเดียว  ตั้งแต่การติดเครื่องยนต์(Start up)ก็ต้องขออนุญาตจาก ATC  จะเคลื่อนตัวไปตามจุดต่างๆในสนามบิน(Taxi)ก็ต้องขอคำอนุญาตจาก ATC  จนมาตั้งตัวบน Runway เพื่อวิ่งขึ้น(Take off)ก็ต้องได้รับคำอนุญาตจาก ATC ครับ   และก็ยังจะต้องติดต่อสื่อสารกันแบบนี้ไปเรื่อยๆจนเครื่องบินไปถึงสนามบินปลายทาง  จนเครื่องจอดเสร็จเรียบร้อยเลยครับ   ส่วนรายละเอียดและขั้นตอนการทำงานนั้นจะให้เขียนทั้งหมดก็คงจะเยอะไป ผมขี้เกียจเขียนครับ เอ้ย ล้อเล่น  เอาไว้ผมจะมาเล่าให้ฟังละเอียดขึ้นในโอกาสต่อไปนะครับ

     ATC นั้นเป็นหนึ่งในอาชีพที่มีความเครียดมากที่สุดในโลกเลยก็ว่าได้  ดังนั้นคนที่จะมาเป็น ATC จึงต้องรู้จักบริหารความเครียดได้อย่างเหมาะสม  แต่ท่านผู้โดยสารไม่ต้องห่วงนะครับเพราะถึงแม้ ATC จะต้องทำงานอยู่บนความเครียด  จึงทำให้เกิดความล้าในการทำงานได้ง่าย  แต่เพื่อความปลอดภัยสูงสุดเราจึงทำงานติดต่อกันแค่ 2 ชม. และพัก 1 ชม. ทั้งนี้ก็จะมีการปรับเปลี่ยนบ้างขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละหอบังคับการบินครับ   

     นอกจากการบริหารความเครียดแล้ว  ATC ก็ยังจะต้องทำงานเป็นทีมได้เป็นอย่างดี  มีความรับผิดชอบสูง  และรักในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ  เพราะเทคโนโลยีในด้านการบินนั้นเปลี่ยนแปลงและทันสมัยขึ้นอยู่ตลอดเวลา   ATCเองก็ต้องเรียนๆสอบๆอยู่ตลอดชีวิตการทำงานนะครับ

     พูดกันมาถึงตรงนี้ก็คงพอจะเห็นภาพของ ATC กันแบบคร่าวๆกันแล้วนะครับ  แต่เดี๋ยวก่อน เรื่องราวเกี่ยวกับ ATC และอาชีพต่างๆในแวดวงการบินยังมีให้เล่าสู่กันฟังอีกเยอะแยะมากมายเลยครับ  แล้วผมจะมาเล่าให้ฟังกันต่อในโอกาสหน้านะครับ  วันนี้เอาแค่น้ำจิ้มกันไปก่อนเด้อ  หวังว่าบทความนี้คงจะเป็นประโยชน์ให้กับน้องๆที่กำลังอยากจะเข้ามาสัมผัสกับแวดวงการบินไม่มากก็น้อยนะครับ  อย่างไรก็แล้วแต่ การทำงานที่เรารักและมีความสุขกับการทำงานย่อมเป็นลาภอันประเสริฐครับ  แล้วเจอกันใหม่ครับ สวัสดีครับ




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น