วันศุกร์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2559

Basic Phase of Flight.



Basic Phase of Flight.




     ในการทำการบินแต่ละเที่ยวบินนั้นเราจะแบ่งออกเป็น phase ต่างๆ  ในแต่ละ phase ก็จะมีผลเกี่ยวเนื่องไปถึงการคำนวณปริมาณเชื้อเพลิงที่ต้องใช้ ฯลฯ  แต่...ประเด็นที่เราจะพูดถึงในวันนี้ จะว่าด้วยเรื่องการติดต่อกับเจ้าหน้าที่ ATC ในแต่ละ phase ว่าจะต้องติดต่อสื่อสารกับ ATC หน่วยไหนบ้าง แบบคร่าวๆพอสังเขปนะครับ

     1. Taxi หรือ Pre-flight Phase นักบินจะขอคำอนุญาต taxi เพื่อไปวิ่งขึ้นบน runway
 โดยติดต่อวิทยุสื่อสารกับ Ground Controller ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบการจราจรบนพื้นที่ Taxiway

     2. Takeoff Phase นักบินนำเครื่องเข้าสู่ทางวิ่ง (Runway) และเพิ่มความเร็วเพื่อนำเครื่องวิ่งขึ้น โดยจะวิทยุสื่อสารกับ Tower Controller ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบพื้นทึ่บน Runway และรับผิดชอบการจราจรทางอากาศในเขตสนามบิน (aerodrome) รัศมีประมาณ 5 NM รอบสนามบิน

     3. Departure & Climb Phase เป็นช่วงของการไต่ระดับเพื่อนำเครื่องบินเข้าสู่เส้นทางบิน โดยจะติดต่อสื่อสารกับ Approach Controller ผู้รับผิดชอบการจราจรทางอากาศในเขตประชิดสนามบิน (Approach) รัศมีประมาณ 25 NM รอบสนามบิน

     4. Cruise Phase เป็นช่วงการบินรักษาระดับความสูงในเส้นทางบิน ในช่วงนี้จะติดต่อสื่อสารกับ Area Control ซึ่งรับผิดชอบการจราจรทางอากาศในเขตเส้นทางบิน

     5. Descent & Approach Phase เป็นช่วงการลดระดับเพื่อนำเครื่องลง ณ สนามบินปลายทาง โดยจะติดต่อสื่อสารกับ Approach Controller ของสนามบินปลายทาง

     6. Landing Phase เป็นช่วงของการนำเครื่องลงบน Runway ช่วงนี้อาจจัดเป็นช่วงที่ critical ที่สุดเลยก็ว่าได้ โดยจะติดต่อสื่อสารกับ Tower Controller

     7. Taxi to apron ช่วงสุดท้ายของการบินก่อนจะนำผู้โดยสารทุกท่านถึงปลายทางโดยสวัสดิภาพ นักบินจะวิทยุสื่อสารกับ Ground Controller ทันทีที่นำเครื่องออกจาก Runway


     ทั้งนี้ การส่งผ่านการควบคุมเครื่องบินระหว่างหน่วยงาน ATC ไม่ได้ส่งกันตอนผ่านเขตควบคุมของแต่ละหน่วยกันแบบเป๊ะๆเด๊ะๆนะครับ มันจะมีช่วง common boundary ระหว่างหน่วยงาน ATC จะส่งผ่านการควบคุมกันตอนไหนมันก็ปัจจัยต่างๆที่ต้องพิจารณาร่วมด้วย

ตอน สามก๊กทั่วหล้า น่านฟ้าไทย

บทความคัดลอกจากเพจ แบไต๋ ATC  ( โพสเมื่อ 9 ก.ย. 2557 )

     เอ๊ะ!! ชื่อตอนมันฟังดูไม่ได้เกี่ยวอะไรกับ ATC เลย .. จริงๆแล้วก็ไม่มีไรมาก แค่อยากบอกว่า การควบคุมจราจรทางอากาศนั้นแบ่งออกเป็น 3 ระดับการควบคุมหรือ 3 ก๊กนั่นเอง 5555

     จากบทความตอน "ถือกำเนิด เกิดอยากเล่า" ที่เคยบอกไว้ว่านักบินกับ ATC จะต้องติดต่อสื่อสารกันตลอด ตั้งแต่การขอติดเครื่องยนต์ไปจนกระทั่งเครื่องบินจอดสนิทที่สนามบินปลายทางกันเลยทีเดียว

     เฮ้ย!!.. ATC คนเดียวจะคอนโทรลเครื่องบินกันขนาดนั้นเลยเหรอ?  ไม่ใช่ครับ!!  เราถึงต้องแบ่งเป็น 3 ก๊กไง มาติดตามกันเลยดีกว่าว่าจะมีก๊กไหนกันบ้าง

     ก๊กแรกนี้เป็นน้องเล็ก เพราะมีอาณาเขตควบคุมเล็กสุด คือมีเขตความรับผิดชอบประมาณ 5-10 ไมล์ทะเลโดยรอบสนามบิน  ความสูงตั้งแต่พื้นดินไปจนถึงประมาณ 2000 ฟุต ก๊กนี้ชื่อว่า "บริเวณท่าอากาศยาน (Aerodrome Control)" เครื่องที่จะมาลงสนามบินนี่ ถ้าไม่ติดต่อวิทยุมาก็ลงไม่ได้นะคร้าบบ เว้นแต่เครื่องจะประสบปัญหาบางอย่าง หรือกำลังอยู่ในภาวะฉุกเฉิน(Emergency) อันนี้ ATC ก็ต้องให้ความช่วยเหลืออย่างทันท่วงที และต้องให้ลำดับความสำคัญเป็นอันดับแรกเลยครับ ส่วนสถานที่ทำงานของ ATC ในระดับ Aerodrome Control ก็คือ หอควบคุมการบิน( Aerodrome Control Tower ) ที่เป็นหอคอยสูงๆในสนามบินนั่นแหละครับ

     ก๊กที่สองชื่อว่า "เขตประชิดท่าอกาศยาน (Approach Control)" ก๊กนี้มีอาณาเขตการควบคุมประมาณ 30-50 ไมล์ทะเลโดยรอบสนามบิน ความสูงตั้งแต่ 2000-11000 ฟุตเลยทีเดียว สถานที่ทำงานก็จะอยู่ในห้องเรดาร์ซึ่งอยู่ในหอบังคับการบินหรืออาจอยู่ที่ศูนย์กลางใน กทม. ซึ่งเรียกว่า Approach Control Center ก็ได้ครับ .. อ้าว! ชื่อว่าเขตประชิดท่าอากาศยานแล้วทำไมไปอยู่ศูนย์กลางที่กรุงเทพฯได้หล่ะ ทำไม่อยู่ที่สนามบินเท่านั้น ?

     ก็เพราะก๊กนี้ทำงานโดยการดูตำแหน่งเครื่องบินจากจอแสดงผลเรดาร์ติดตามอากาศยาน ไม่จำเป็นต้องมองเห็นเครื่องบินจริงๆตัวเป็นๆก็ได้ไงครับ  แค่ส่งสัญญาณเรดาร์ไปแสดงผลในที่ที่ต้องการ ก็สามารถควบคุมหรือจัดระยะห่างระหว่างเครื่องบินจากที่นั่นได้เลย

     และก๊กสุดท้ายซึ่งเป็นก๊กพี่ใหญ่ ชื่อว่า " เขตเส้นทางบิน ( Area Control ) " ที่ว่าเป็นพี่ใหญ่ก็เพราะก๊กนี้เค้ามีอาณาเขตควบคุมเส้นทางบินทั้งประเทศไทยเลยทีเดียว โอ้จอร์จมันยอดมาก เครื่องบินที่บินเข้ามาในน่านฟ้าประเทศไทย ในที่นี้จะเรียกว่า Bangkok FIR ( Bangkok Flight Information Region ) ก็จะต้องมาติดต่อ Area Control เป็นอันดับแรกเลย หลังจากนั้นจึงส่งต่อการควบคุมไปให้ Approach control และ Aerodrome control เป็นลำดับไป แต่ก็ไม่ใช่ว่า ATC ที่ทำหน้าที่ area control คนเดียวจะต้องดูแลเครื่องบนฟ้าทั้งประเทศนะครับ ยังมีการแบ่งเขตควบคุมออกเป็น 8 เขตย่อยหรือ 8 Sector ด้วยนะครับ ส่วนสถานที่ทำงานของพี่ๆเค้าก็จะอยู่ที่ส่วนกลางใน กทม. ( Area Control Center )

     สำหรับวันนี้หวังว่าน้องๆและผู้ที่สนใจคงจะได้เห็นภาพการทำงานของ ATC กันมากขึ้นอีกไม่มากก็น้อย เรียกว่าพอหอมปากหอมคอกันแล้วนะครับ สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถอ่านได้จากเว็บไซต์ของบริษัทวิทยุการแห่งประเทศไทย ( www.aerothai.co.th ) ขอบคุณที่อดทนอ่านจนจบนะครับ555 สวัสดีครับ

https://www.facebook.com/pages/%E0%B9%81%E0%B8%9A%E0%B9%84%E0%B8%95%E0%B9%8B-ATC/1485312548393581